“Hybrid working” ดียังไง? รู้จักสไตล์การทำงานใหม่ในยุค New normal

การระบาดของ COVID-19 ได้ปฏิวัติหลายๆ อุตสาหกรรมไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ “รูปแบบการทำงาน” การเดินทางเข้าออฟฟิศเพื่อทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำที่เราคุ้นเคยกันนั้นอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป… 

 

ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อลดความเสี่ยงของโรคระบาด ซึ่ง 77% ของคนที่ทำงาน WFH บอกว่ารูปแบบการทำงานนี้ช่วยทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางลง อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่งหลายๆ คนมองว่า WFH ทำให้พวกเขาแยกชีวิตส่วนตัวกับงานได้แย่ลง และขาดการทำงานเป็นทีม 

 

ด้วยเหตุนี้เอง “Hybrid working” จึงกลายเป็นรูปแบบการทำงานใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้คนในยุค New normal บทความนี้เราจะมาไขข้อสงสัยว่า Hybrid working คืออะไร? มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ไปจนถึงวิธีการปรับใช้กับทีมงาน เราไปดูกันเลย! 

Hybrid working คืออะไร? 

“Hybrid working” คือ รูปแบบการทำงานที่ให้พนักงานทำงานในออฟฟิศสลับกับ Work From Home หรือจากที่ไหนก็ได้ (Remote working) แทนที่การทำงานในออฟฟิศทุกวันเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่แค่สถานที่เท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงเลือกเวลาทำงานได้เองอีกด้วย ซึ่งรูปแบบ Hybrid working นี้ทำให้พนักงานมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถเข้าออฟฟิศเพื่อไปพบกับทีมงาน หรือใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์สำนักงานและพื้นที่ส่วนกลางของออฟฟิศได้เช่นกัน 

การผสมผสานระหว่าง 2 รูปแบบการทำงานนี้ทำให้เกิดข้อดีมากมาย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทกว่า 63% เลือกใช้ Hybrid working ในการทำงาน โดยเฉพาะบริษัทที่มีการเติบโตสูง รวมถึงมีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ต้องการ Work From Home 3-4 วันต่อสัปดาห์ สลับกับทำงานที่ออฟฟิศในวันที่เหลือ 

ตัวอย่างของ Hybrid working 

เรามาดูตัวอย่างของบริษัทต่างๆ ที่ได้นำ Hybrid working ไปใช้ในการทำงานจริงกัน ซึ่งเราได้หยิบยกตัวอย่างจาก 3 บริษัทใหญ่ ได้แก่ Microsoft, Amazon และ Google 

 

  1. Microsoft ให้พนักงาน WFH 50% ของเวลาทำงานทั้งหมด 

นอกจากนี้ถ้าพนักงาน Microsoft ได้รับความยินยอมจากผู้จัดการก็สามารถ WFH ได้มากขึ้นอีกด้วย โดยพนักงานกว่า 70% ให้การตอบรับนโยบาย Hybrid working นี้เป็นอย่างดี อีกทั้งบริษัทยังให้ความสำคัญกับพนักงานที่ทำงาน WFH มากขึ้นเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารภทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขกับการทำงานด้วย 

 

  1. Amazon ปรับ Hybrid working ตามทีมและเฉพาะบุคคล 

โมเดลของ Amazon นั้นค่อนข้างยืดหยุ่นดูตามความเหมาะสม โดยบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานในออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตามรูปแบบการทำงานนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามวิจารณญาณของหัวหน้าทีม อาจจะประชุมแบบเจอตัวหรือ WFH ก็ได้ขึ้นกับงานและจะปรับให้เข้ากับลูกน้องแต่ละคน 

 

  1. Google มีโมเดลการทำงานแบบ 3/2 วันต่อสัปดาห์ 

นั่นคือให้พนักงานทำงานที่ออฟฟิศแค่ 3 วันต่อสัปดาห์และทำงานที่ไหนก็ได้อีก 2 วัน โดย Sundar Pichai CEO ของ Alphabet และ Google กล่าวว่าอนาคตการทำงานของ Google จะมีความยืดหยุ่นทั้งสถานที่และเวลาทำงาน ในขณะเดียวกันพนักงานก็สามารถใช้พื้นที่ของบริษัทในการทำงานแก้ปัญหายากๆ ได้ด้วย  

Hybrid working ดียังไง? 

จากข้อมูลและตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า Hybrid working ได้เข้ามาแทนที่การทำงานรูปแบบเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ Hybrid working กลายเป็นรูปแบบการทำงานหลักของหลายๆ บริษัท และพนักงานมากมายต่างเลือกใช้วิธีการทำงานนี้? เราไปดูเหตุผลกัน 

1. Work-life balance

หมดยุคของการทำงานหนักเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันชาว Millennials มากมายมองหางานที่ทำให้พวกเขามี “Work-life balance” นั่นคือได้ใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการทำงาน Hybrid working จึงตอบโจทย์เพราะทำให้คนทำงานสามารถออกแบบตารางชีวิตของพวกเขาได้เอง ทั้งเลือกสถานที่ทำงาน เวลาทำงาน ไปจนถึงเวลาพักผ่อนหรือทำธุระต่างๆ 

2. ลดค่าใช้จ่ายและเวลาการเดินทาง 

การทำงาน WFH สลับกับทำงานที่ออฟฟิศบางวันช่วยให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในออฟฟิศลงโดยเฉพาะค่าสถานที่ บางบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายถึง 30% เลยทีเดียว หลายๆ บริษัทจึงหันไปเช่าสถานที่ทำงานที่เล็กลงอย่าง co-working space แทน ส่วนในมุมมองพนักงาน การทำงานรูปแบบนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาการเดินทางของพวกเขาลงเช่นกัน ซึ่งส่งผลดีทำให้เครียดน้อยลงด้วย 

3. บาลานซ์ความอิสระและการทำงานเป็นทีม 

แม้ว่าการ WFH จะทำให้พนักงานมีอิสระในการควบคุมชีวิตตัวเองและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อย่างไรก็ตาม WFH ยังไม่สามารถทดแทนการทำงานที่ออฟฟิศได้ในแง่ “ความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งหลายๆ นวัตกรรมหรือไอเดียสดใหม่ล้วนเกิดขึ้นจากการพูดคุยกันในออฟฟิศ อีกทั้งการพบปะแบบเจอตัวยังช่วยเสริม “การทำงานเป็นทีม” และสื่อสารกันได้ดีขึ้น Hybrid working จึงเป็นทางออกที่จะบาลานซ์ทั้งความยืดหยุ่นของการ WFH และดึงข้อดีของการทำงานในออฟฟิศออกมาด้วย 

การนำ Hybrid working มาใช้ในทีม

จากผลสำรวจพบว่าพนักงานประจำกว่า 47% ต้องการทำงานกับบริษัทที่มีโมเดลการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่ง Hybrid working คือหนึ่งในรูปแบบการทำงานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทและพนักงานได้ ในส่วนนี้เราจะมาดูวิธีการนำ Hybrid working มาใช้ในทีม โดยสรุปออกมาเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้ 

1. สำรวจความคิดเห็นของทีมงาน 

เนื่องจาก Hybrid working นั้นไม่ได้มีวิธีการทำงานที่ตายตัว คุณควรจะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริษัทหรือทีมของคุณ โดยเริ่มต้นจากสำรวจความคิดเห็นของคนในทีม นี่คือตัวอย่างคำถามบางส่วนที่จะช่วยให้คุณเข้าใจความต้องการของคนในทีมมากขึ้น:

  • คุณเคยมีประสบการณ์ทำงานที่บ้านหรือที่อื่นนอกเหนือจากในออฟฟิศหรือไม่? 
  • คุณต้องการทำงานในออฟฟิศกี่วันต่อสัปดาห์? 
  • คุณคิดว่าการทำงานที่บ้านมีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง? 
  • อื่นๆ 

2. ลงทุนในเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการทำงาน

เพื่อให้การทำงานทั้งที่ออฟฟิศและ WFH ราบรื่น บริษัทควรให้ความสำคัญกับเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยให้คนในทีมติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายแม้จะทำงานกันคนละสถานที่และเวลา เช่น แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์, โปรแกรมแชร์ไฟล์และเก็บไฟล์งาน, โปรแกรมติดต่อสื่อสารในบริษัท และที่ขาดไม่ได้คือโปรแกรมวางแผนงานเพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าของงาน  

3. เลือกโมเดลของ Hybrid working 

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า Hybrid working นั้นมีความยืดหยุ่นสูง หัวหน้าทีมจึงควรเลือกโมเดลการทำงานให้ตรงกับลักษณะของงานและคนในทีมแต่ละคน สำหรับโมเดลของ Hybrid working สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทหลักดังนี้ 

 

  1. พนักงานบางส่วนทำงานที่ออฟฟิศ และบางส่วน WFH 100%

โมเดลนี้จะแยกพนักงานออกไป 2 ส่วน คือ พนักงานที่ต้องทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา (อาจจะต้องใช้อุปกรณ์หรือมีความจำเป็นอย่างเช่นงานด้านการแพทย์) กับอีกส่วนที่สามารถทำงานผ่านคอมพิวเตอร์จากที่ไหนก็ได้ 100% โมเดลนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถลดขนาดของออฟฟิศและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสถานที่ลงได้ 

 

  1. พนักงานทุกคนทำงานที่ออฟฟิศแค่บางวันสลับกับ WFH ในแต่ละสัปดาห์

นี่เป็นโมเดลที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายที่สุด และอาจจะถูกใช้ไปอีกในระยะยาวแม้การระบาดของ COVID-19 สิ้นสุดลง ในหนึ่งสัปดาห์พนักงานทุกคนจะทำงานที่ออฟฟิศ 2-3 วัน (หรือขึ้นกับบริษัท) สลับกับ WFH ในวันที่เหลือ 

 

  1. ผสมโมเดล A และ B เข้าด้วยกัน 

เหมาะสำหรับบริษัทใหญ่ที่มีสำนักงานใหญ่หลายแห่ง หรือแต่ละแผนกมีความแตกต่างกัน สามารถนำทั้งโมเดล A และ B ไปปรับใช้ให้เข้ากับแต่ละสำนักงานหรือแผนก 

4. เก็บ Feedback จากทีมงาน 

การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากในออฟฟิศเป็น WFH ต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว ดังนั้นขั้นตอนการเก็บ Feedback จากทีมงานจึงมีความสำคัญมาก หัวหน้าทีมควรเก็บ Feedback อย่างต่อเนื่องและเก็บในหลายรูปแบบไม่ว่าจะผ่านการพูดคุยหรือใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้เข้าใจความต้องการของทีมงานและทราบปัญหารวมถึงหาทางแก้ไขได้ 

สรุป 

ในอนาคตรูปแบบการทำงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การทำงานที่ไหนก็ได้กลายเป็น ‘New normal’ ของคนทำงานทั่วโลก ในขณะเดียวกันบทบาทของออฟฟิศก็ไม่ใช่เป็นแค่สถานที่ทำงาน แต่กลายเป็นสถานที่ ‘ชาร์จพลัง’ ของพนักงานที่ WFH แล้วต้องการเพิ่มความคิดสร้างสรรคหรือพบปะกับเพื่อนร่วมงาน “Hybrid working” คือสะพานเชื่อมระหว่างการทำงาน 2 แบบนี้ ซึ่งช่วยบาลานซ์ความยืดหยุ่นจากการ WFH และเติมเต็มการทำงานเป็นทีมที่ออฟฟิศ 

 

ถ้าหากคุณเป็นหัวหน้าทีม การนำ Hybrid working ไปใช้ในการทำงานควรเริ่มต้นจากทำความเข้าใจลักษณะของงานและความต้องการของคนในทีม เพื่อจะได้เลือกโมเดลของ Hybrid working ให้ตอบโจทย์ของทั้งบริษัทและพนักงานไปพร้อมๆ กัน