ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์อะไรก็ตาม ขั้นตอนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือการทดสอบโปรดักต์นั้นก่อนใช้งานจริง แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นหลังจากปล่อยโปรดักต์ออกไปแล้ว ดังนั้นในบทความนี้เราจะพูดถึงการทดสอบที่เรียกว่า “User Acceptance Test” หรือ “UAT” ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ไปดูกันว่า UAT คืออะไร? ทำไมขั้นตอนนี้จึงสำคัญกับการพัฒนาซอฟต์แวร์? พร้อมวิธีการทดสอบแบบละเอียด!
User Acceptance Test (UAT) คืออะไร?
User Acceptance Test (UAT) คือ กระบวนการทดสอบการใช้งานซอฟต์แวร์โดยผู้ใช้งานจริง (End users) หรือลูกค้า ซึ่ง UAT เป็นกระบวนการตรวจสอบขั้นสุดท้ายก่อนปล่อยโปรดักต์ออกไปใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่าระบบที่พัฒนานั้นตรงตามความต้องการของธุรกิจและผู้ใช้งาน
โดยการทำ UAT จะทดสอบในสภาพแวดล้อมจริงหรือใกล้เคียงที่สุดเพื่อความแม่นยำ และถ้าผลลัพธ์ภายหลังการทดสอบผ่านเกณฑ์การยอมรับ หรือที่เรียกกว่า “Acceptance Criteria” โปรดักต์นั้นก็จะสามารถถูกปล่อยออกไปใช้งานจริงได้นั่นเอง
ทำไมต้องทำ UAT?
การทดสอบระบบนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งการทดสอบโดยผู้ใช้งานจริงหรือ UAT นั้นถูกนำมาใช้กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้นเรื่อยๆ เราได้สรุปความสำคัญของ UAT ออกมาเป็น 3 ข้อดังนี้
1. ตรวจสอบว่าซอฟต์แวร์ตอบโจทย์ผู้ใช้งานหรือไม่
เนื่องจากทีมพัฒนาอาจจะพัฒนาซอฟต์แวร์โดยยึดจากเอกสารความต้องการ (Requirements document) และใช้มุมมองความเข้าใจของนักพัฒนาเป็นหลัก แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่าระบบนั้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน หรือเป็นไปตามความต้องการเชิงธุรกิจ (Business Requirements) หรือไม่ ดังนั้น UAT จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการตรวจสอบระบบแบบครบวงจรเพื่อให้โปรดักต์ที่พัฒนานั้นตรงกับสิ่งที่กำหนดไว้ และสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ
2. ค้นพบปัญหาจากการใช้งานจริง
การทดสอบโปรดักต์โดยผู้ใช้งานในสภาพแวดล้อมจริงจะช่วยให้ทีมพัฒนาได้ตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน แม้ก่อนหน้าจะมีการทดสอบโดยทีมพัฒนาหลายขั้นตอนแล้ว แต่อาจจะมีบางปัญหาที่สามารถตรวจพบได้โดยผู้ใช้งานจริงเท่านั้น
UAT มีข้อดีเพราะยิ่งทดสอบและเจอข้อผิดพลาดเร็วเท่าไหร่ต้นทุนในการแก้ไขก็ยิ่งน้อยลง ส่วนการค้นพบปัญหาภายหลังปล่อยโปรดักต์ออกไปนั้นนอกจากต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าเพื่อแก้ไขแล้ว ยังทำให้ความน่าเชื่อถือในธุรกิจลดน้อยลงด้วย
3. เป็นการให้ Feedback ภายในทีม
ในระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์เมื่อมีการแก้ไข ปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ต่างๆ เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้มีการสื่อสารภายในทีมอย่างครบถ้วน ดังนั้นขั้นตอนการทำ UAT จึงเป็นการสรุปทุกขั้นตอนก่อนหน้า ช่วยให้ภายในทีมพัฒนามีความเข้าใจในโปรดักต์ที่ตรงกัน และทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
หลังจากเรารู้ว่า UAT คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกันไปแล้ว เรามาดูกันต่อว่าขั้นตอนการทำ UAT นั้นมีอะไรบ้าง
กระบวนการทำ UAT
การทดสอบซอฟต์แวร์หรือระบบสามารถแบ่งได้เป็น 4 กระบวนการดังนี้:
- Unit Testing
- Integration Testing
- System Testing
- Acceptance Testing
สำหรับ 3 กระบวนการแรกเป็นการทดสอบความเรียบร้อยและความพร้อมของระบบโดยผู้ผลิตและนักพัฒนา ในขณะที่กระบวนการ UAT จะเป็นการทดสอบโดยผู้ใช้งานหรือลูกค้า ซึ่งจะต้องมีส่วนร่วมทุกกระบวนการของการทดสอบตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสรุปผล ส่วนทีมรับผิดชอบการทำ UAT ควรจะประกอบด้วยคนที่รู้รายละเอียดของซอฟต์แวร์โดยเฉพาะข้อกำหนดต่างๆ และผู้ที่เข้าใจจุดประสงค์ของธุรกิจ
ก่อนจะเริ่มต้นทำ UAT ได้นั้น สิ่งสำคัญคือซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันต้องพัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และไม่มีข้อผิดพลาดใหญ่ๆ ในขั้นตอนก่อนหน้า หรือข้อบกพร่องนั้นได้รับการแก้ไขแล้ว สำหรับกระบวนการทำ UAT มีทั้งหมด 5 ขั้นตอนด้วยกัน
1. วิเคราะห์ความต้องการเชิงธุรกิจ (Business Requirements)
การจะทำ UAT ให้ได้มีประสิทธิภาพความต้องการเชิงธุรกิจต้องมีความชัดเจน ทีมทดสอบควรเริ่มต้นจากทำความเข้าใจเป้าหมายของธุรกิจ ความต้องการของผู้ใช้ และขอบเขตของโปรเจกต์
2. วางแผนการทำ UAT
แผนการทำ UAT มีจุดประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการทำ UAT จะเป็นไปตามความต้องการเชิงธุรกิจ ในขั้นตอนนี้ทีมทดสอบจะกำหนดว่าต้องการทดสอบอะไรบ้าง ระบุเกณฑ์การยอมรับ (Acceptance criteria) ใครเป็นคนดำเนินการในแต่ละการทดสอบ ไทม์ไลน์การทำงาน และอื่นๆ
3. กำหนดสถานการณ์ที่ใช้ในการทดสอบ (Test Scenarios)
ขั้นตอนนี้คือการกำหนดสถานการณ์ที่ใช้ในการทดสอบ (Test Scenarios) รวมไปถึงกรณีที่ใช้ในการทดสอบ (Test Cases) และข้อมูลที่ใช้ (Test data) โดยควรจะทดสอบในสถานการณ์จริง หรือใกล้เคียงกับการใช้งานจริงมากที่สุดเพื่อให้ผลลัพธ์น่าเชื่อถือ เช่น ทรัพยากรบนเครื่องที่ใช้ทดสอบ, ประสิทธิภาพในการใช้งาน, เป็นต้น
4. ทดสอบ UAT และบันทึกข้อมูล
หลังจากกำหนดแผน สถานการณ์และข้อมูลจำเป็นต่างๆ แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการทดสอบจริง และจดบันทึกผลลัพธ์ ปัญหา รวมถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้คือการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ใช้ ผู้ทดสอบ และผู้พัฒนา
5. ประเมินผลลัพธ์
ถ้าการทดสอบพบข้อผิดพลาด หรือไม่ตรงตามข้อกำหนดโปรดักต์จะถูกนำไปปรับปรุงแก้ไข แล้วจะกลับเข้าสู่กระบวนการ UAT อีกครั้ง ในทางตรงกันข้ามถ้าผลลัพธ์การทดสอบผ่านเกณฑ์การยอมรับ และไม่พบข้อบกพร่องจากการใช้งานแล้ว หลังจากนั้นจะมีการลงนามอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ใช้งาน (UAT Sign Off) นอกจากนี้ควรมีการคุย Feedback กันภายในทีมทดสอบและทีมพัฒนาเพื่อให้มีข้อสรุปเกี่ยวกับโปรดักต์ที่ตรงกันด้วย
สรุป
การพัฒนาซอฟต์แวร์ในมุมมองของผู้ผลิตเพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานหรือเป้าหมายธุรกิจอย่างครบถ้วน ดังนั้น “User Acceptance Test” หรือ “UAT” จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะตรวจสอบโดยผู้ใช้จริง เพื่อให้ได้โปรดักต์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง อีกทั้งยังประหยัดต้นทุนในการแก้ไขด้วย สิ่งสำคัญคือการกำหนดความต้องการเชิงธุรกิจให้ชัดเจน รวมถึงสถานการณ์ กรณี และข้อมูลที่ใช้ในการทดสอบต่างๆ เพื่อให้กระบวนการทำ UAT นั้นออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด